Linking verbs คือ กริยาเชื่อม ที่ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างประธาน (Subject) กับคำนาม (Nouns) หรือคำคุณศัพท์ (Adjective) เพื่อขยายประธาน เป็นการบ่งบอกสภาวะหรือสภาพของประธาน โดยแสดงอาการ การรับรู้ หรือความรู้สึกของประธานในประโยค

ทีนี้.. เรามาดูกันว่าคำกริยาในกลุ่ม Linking verbs ที่พบเห็นและใช้กันบ่อยๆ มีอะไรบ้าง..?

คำกริยาในกลุ่ม Linking verbs นี้ ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นคำกริยา แต่กลับไม่แสดง “ อาการกระทำ “ เหมือนคำกริยาอื่นๆทั่วไป แต่จะทำหน้าที่เป็น “ ตัวเชื่อม ” เพื่ออธิบายหรือบอกเกี่ยวกับประธาน ว่ามีสภาพหรือความรู้สึกอย่างไร..?

กริยาในกลุ่ม Linking verbs นี้ ไม่ต้องการกรรมมารองรับ แต่ต้องการคำคุณศัพท์ (Adjective) หรือคำนาม (Nouns) ที่เป็นส่วนเติมเต็ม (Complement) มาช่วยขยายให้ประโยคนั้นสมบูรณ์และมีความหมายชัดเจนขึ้น..

Linking verbs คำกริยาที่มีหน้าที่เชื่อมคำนาม (Nouns) หรือคำคุณศัพท์ (Adjective) อย่างเดียว ไม่สามารถแสดงอาการกระทำเหมือนคำกริยาอื่นๆ คือ

Verb to be, become, seem เป็น, อยู่, คือ, กลายเป็น, ดูเหมือนว่า

  • Paul is a university president. (ทอมเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย)
  • Sarah was at the theater last night. (ซาร่าห์อยู่ที่โรงละครเมื่อคืนนี้)
  • Is she very smart. (เธอฉลาดมากใช่มั้ย)
  • Tom became an outstanding student. (ทอมกลายเป็นนักเรียนดีเด่น)
  • She doesn’t seem happy. (เธอดูเหมือนไม่มีความสุข)

คำกริยาเหล่านี้ ทำหน้าที่เป็น Linking verbs ได้อย่างเดียว โดยไม่สามารถแสดงอาการกระทำเหมือนคำกริยาอื่นๆ

ส่วนคำกริยาอื่นๆ ในกลุ่ม Linking verbs อาจจะเป็นทั้งกริยาที่แสดงอาการกระทำ หรือเป็นตัวเชื่อม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประโยคที่เราใช้พูด เช่น

look /appear ดูเหมือนว่า, ดูเหมือน

  • The flower looks wilted. (ดอกไม้ดูร่วงโรย)
  • He appears awkward. (เขาดูเหมือนอึดอัด)

stay, remain ยังคง, ยังคงเป็น

  • She remains calm. (เธอยังคงสงบ)
  • Everyone stays surprised. (ทุกคนยังคงประหลาดใจ)

turn, get, grow, feel เริ่ม, กลายเป็น, รู้สึก

  • The dead body turned pale white. (ศพที่ตายแล้วกลายเป็นสีขาวซีด)
  • They got grumpy. (พวกเขาอารมณ์เสีย)
  • She grew tired. (เธอเริ่มรู้สึกเหนื่อย)
  • I feel terrible today. (วันนี้ฉันรู้สึกแย่มาก)

taste, smell มีรสชาติ, มีกลิ่น

  • This mango cheese cake tastes awesome. (มะม่วงชีสเค้กนี้รสชาติเยี่ยม)
  • Those eggs smell rotten. (ไข่พวกนั้นส่งกลิ่นเน่าเสีย)

sound ฟังดูเหมือนว่า

  • Jane sounded very sick. (เจนดูเหมือนว่าไม่สบายมาก)
  • His idea sounds good. (ความคิดของเขาฟังดูดี)

ตามตัวอย่าง คำกริยาทั้งหมดจะทำหน้าที่เป็น Linking verbs ทำหน้าที่เชื่อมประธานกับคำนามและคำคุณศัพท์ เพื่อขยายว่าประธานมีความรู้สึก หรือมีสภาพเป็นอย่างไร

เราสามารถตรวจสอบคำกริยาเหล่านี้ โดยนำ verb to be มาแทนที่ในประโยค ถ้าความหมายไม่เปลี่ยนแปลง คำกริยานั้น ก็ทำหน้าที่ Linking verbs เป็นตัวเชื่อม ไม่ใช่ตัวแสดงอาการกระทำ

  • The flower is wilted. (ดอกไม้ร่วงโรย)
  • He is awkward. (เขาอึดอัด)
  • She is calm. (เธอสงบ)
  • Everyone is surprised. (ทุกคนประหลาดใจ)
  • The dead body was pale white. (ศพที่ตายแล้วเป็นสีขาวซีด)
  • They were grumpy. (พวกเขาอารมณ์เสีย)
  • She was tired. (เธอเหนื่อย)
  • I’m terrible today. (วันนี้ฉันแย่มาก)
  • The mango cheese cake is awesome. (มะม่วงชีสเค้กยอดเยี่ยม)
  • Those eggs are rotten. (ไข่พวกนั้นเน่าเสีย)
  • His idea is good. (ความคิดของเขาเป็นความคิดที่ดี)

Linking verbs ที่ทำหน้าที่เป็นคำกริยาแสดงอาการกระทำ เช่น

  • I smell the flower. (ฉัมดมดอกไม้) แสดงอาการดม
  • You can taste my cheese cake. (คุณชิมชีสเค้กของฉันได้) แสดงอาการชิม
  • She got money. (เธอได้รับเงิน) แสดงอาการได้รับ
  • We turned left at the traffic light. (เราเลี้ยวซ้ายที่สัญญาณไฟจราจร) แสดงอาการเลี้ยว
  • The kid is looking at the airplane. (เด็กกำลังมองดูเครื่องบิน) แสดงอาการกำลังมองดู

เพราะฉะนั้น เราต้องแยกให้ได้ว่า Linking verbs ตัวนั้น ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อม หรือทำหน้าที่เป็นกริยาแสดงอาการกระทำ